15 สมุนไพรตัวเด็ด! ต้าน 5 โรคฮิต

มนุษย์ใช้สมุนไพรในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ จวบจนปัจจุบันที่สมุนไพรยังคงถูกใช้อย่างแพร่หลายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาต้ม ยาพอก แคปซูล เครื่องดื่ม หรืออื่นๆ อีกมากมาย

ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากหันมาใช้พืชสมุนไพรบำบัดอาการเจ็บป่วย ควบคู่กับการรักษาสุขภาพด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน รวมทั้งการนำมาสกัดเป็นเครื่องดื่มเสริมอาหารเพื่อให้กินได้ง่ายขึ้น

คุณกรรณิการ์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรโพชงและคลุกคลีอยู่ในวงการสมุนไพรมาอย่างยาวนาน อธิบายถึงโรคและอาการผิดปกติ 5 กลุ่มซึ่งสามารถใช้สมุนไพรในการบำบัดรักษา ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิต ภูมิแพ้ นอนไม่หลับ หรือแม้แต่อาการปวดข้อ ปวดเข่า ซึ่งคุณกรรณิการ์ได้แนะนำ 15 สมุนไพรดังต่อไปนี้

ประเภทสมุนไพรช่วยคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน อีกทั้งยังต้องดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ และที่สำคัญ ควรควบคุมปริมาณอาหารหรือเลือกกินอาหารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสมุนไพรบางชนิด คุณกรรณิการ์แนะนำไว้ดังนี้

  1. มะระขี้นก สมุนไพรรสขมที่มีสาร Plain Insulin ตามธรรมชาติ ประกอบด้วยสารพีอินซูลิน (P- Insulin) สารคาแรนติน (Charantin) และสารวีซีน (Vicine) ออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลินที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์ โดยทำหน้าที่ดึงน้ำตาลจากกระแสเลือดออกมา สร้างเป็นพลังงานในชีวิตประจำวัน

    ปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับ ทั้งในสัตว์ทดลองและในผู้ป่วยเบาหวาน ยืนยันว่า สารคาแรนตินที่พบในมะระขี้นกสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง โดยใช้มะระขี้นกขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจากการติดตามผลไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงและไม่พบความเป็นพิษต่อตับ ฉะนั้นสามารถใช้มะระขี้นกเป็นอาหารหรือยาในการรักษาโรคเบาหวานได้อย่างปลอดภัย

    คำเตือน: ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หรือผู้ที่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ไกลพิไซด์, โทลบูตาไมด์, ไกลเบนคลาไมด์, ไพโอกลิตาโซน เป็นต้น ควรระมัดระวังในการกิน เนื่องจากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจต้องปรับปริมาณยาและควยคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
  2. อบเชย ในต่างประเทศนิยมใช้อบเชยเป็นส่วนผสมในขนม เนื่องจากมีสารให้ความหวานที่ทดแทนน้ำตาลได้ หนังสือ พฤกษาบำบัด ยาดีจากธรรมชาติ สำนักพิมพ์บ้านและสวนให้ข้อมูลว่า สารให้ความหวานที่อยู่ในอบเชยไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด มีสารออกฤทธิ์เทียบเคียงอินซูลิน จึงอาจมีสรรพคุณช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล

    โดยมีผลการศึกษาในวารสารโภชนาศาสตร์คลินิกอเมริกันให้ข้อมูลว่า อบเชยมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลินของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อน และมีคุณสมบัติเป็นอาหารต้านจุลชีพ ช่วยยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้

    คำเตือน: ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลที่ต่ำเกินไปจนเกิดอันตราย
  3. ใบหม่อน มีสารดีเอ็นเจ (DNJ) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส (α-glucosidase) โดยมีกลไกป้องกันไม่ให้ร่างกายย่อยคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก จึงช่วยยับยั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ สำหรับการศึกษาทางคลินิกพบว่า การกินผงใบหม่อนขนาด 5.4 กรัมในลักษณะชงดื่ม โดยแบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1.8 กรัม เป็นเวลา 3 เดือน มีผลทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดลดลงและไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่า หากกินใบหม่อนติดต่อกัน 8 วัน จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดและทำให้ระดับฮีโมโกลบินกลับมาดีขึ้น

    คำเตือน: ควรระมัดระวังในการให้ใบหม่อนร่วมกับยารักษาเบาหวาน โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส เช่น Acarbose เพราะอาจไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงมาก

ประเภทสมุนไพรช่วยลดความดันโลหิต

หากพูดถึงสมุนไพรลดความดันโลหิต หลายคนคงนึกถึงสมุนไพรที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน เช่น ขิง กระเทียม ตะไคร้ แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ค้นพบว่าสมุนไพรอีกหลากหลายชนิดที่ช่วยลดความดันโลหิต สามารถกินได้ง่าย ไม่ต้องผ่านกรรมวิธีมากมาย แถมยังมีรสชาติอร่อยอีกด้วย

  1. ดอกคำฝอย ประกอบไปด้วยสารที่ออดฤทธิ์ต่อหลอดเลือดแดง เช่น สารพอฟีนอล (Polyphenol) สารพฤกษเคมีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มของสารพฤกษเคมีที่พบในพืชและผัก และสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยยับยั้งไขมันชนิดที่ไม่ดี (LDL) ลดการก่อตัวของพลัค (Plaque) ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดสะอาด เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และปรับความดันโลหิตให้กลับมาเป็นปกติ จากผลการวิจัยประสิทธิภาพสารสกัดจากเม็ดดอกคำฝอย นักวิจัยแนะนำว่า การบริโภคสารสกัดจากเม็ดดอกคำฝอยเป็นเวลานานค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย และอาจช่วยบรรเทาภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้

    WARNING: ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวช้าลง เช่น แอสไพริน, โคลพิโดเกรล, ไอบูโพรเฟน, นาพรอกเซน, อีน็อกซาพาริน, เฮพาริน, วาร์ฟาริน, เป็นต้น เพราะการบริโภคดอกคำฝอยในระหว่างการใช้ยาอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง จนเสี่ยงเกิดแผลฟกช้ำและทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น
  2. กระเจี๊ยบแดง แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เป็นสารขึ้นชื่อที่อยู่ในกระเจี๊ยบแดง มีคุณสมบัติเข้าไปช่วยบำรุงและฟื้นฟูสุขภาพหัวใจ โดยหนังสือ พฤกษบำบัด ยาดีจากธรรมชาติ สำนักพิมพ์บ้านและสวน ให้ข้อมูลว่า สารประกอบในกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่มีผลต่อความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล ช่วยลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ และยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนสารแอนจิโอเทนซิน (Angiotensin) ซึ่งเป็นสารที่ส่งผลให้หลอดเลือดหดตัวเมื่อมีการเปลี่ยนรูปไป และส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น มีงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองทางคลินิกเผยว่า คนที่ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงทุกวัน ค่าความดันโลหิตในการบีบตัวของหัวใจจะลดลง หากกินติดต่อกันเป็นเวลานานยังทำให้ค่าความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีผลข้างเคียง

    คำเตือน: แม้ยังไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่ผู้ที่กินเพื่อขับปัสสาวะตามคำสั่งแพทย์ควรใช้เป็นครั้งคราว สำหรับผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  3. เก๊กฮวย นอกจากนิยมนำมาทำชาดื่มเพื่อให้นอนหลับสบายแล้ว สรรพคุณของเก๊กฮวยยังช่วยลดอัตราการบีบตัวของหัวใจลง บางคนจึงนิยมกินเก๊กฮวยเป็นการรักษาเสริมตามตำราแพทย์แผนจีน เพราะเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและด้านกระบวนการอักเสบ ส่งผลดีต่อการรักษาและป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง โดยมีงานวิจัยบางส่วนเกี่ยวกับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงตามศาสตร์แพทย์แผนจีนระบุว่า เก๊กฮวยอาจช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะจากความดันโลหิตสูง มีฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิตลงได้ และยังมีข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าที่ให้หนูทดลองกินสารสกัดจากเก๊กฮวยในปริมาณ 100-300 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่า ความดันโลหิตในหนูทดลองลดลงด้วยเช่นกัน

    คำเตือน: เก๊กฮวยเป็นพืชในวงศ์เดียวกับเบญจมาศ ผู้ที่มีอาการแพ้พืชตระกูลนี้มีแนวโน้มแพ้เก๊กฮวยได้เช่นกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินหรือใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากเก๊กฮวย หากพบความผิดปกติหลังปริโภค เช่น มีผื่น มีความผิดปกติในการหายใจ หรือมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้น ควรใช้และไปพบแพทย์ทันที

ประเภทสมุนไพรช่วยในการนอนหลับ

ในวันที่เต็มไปด้วยความเครียดจนเกิดอาการนอนไม่หลับ มีหลายวิธีที่ช่วยให้สมองปลอดโปร่งอย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การออกกำลังกาย การฝึกสมาธิ การสวดมนต์ หรือการใช้สมุนไพร ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาการนอนไม้หลับที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ทางเคมีที่ส่งผลกับสมอง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการผ่อนคลายและนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. เก๋ากี้ หรือที่หลายคนเรียกว่า โกจิเบอร์รี่ เป็นทั้งผลไม้และสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุมากมาย จากผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Alternative and Complementary Medicine เมื่อปี ค.ศ.2008 พบว่าอาสาสมัครทั้งหมด 75 คนที่ดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่เป็นประจำนาน 15 วัน มีแนวโน้มสุขภาพแข็งแรงขึ้น รู่สึกกระปรี้กระเปร่า มีพลังงานมากกว่าที่ผ่านมา นอนหลับได้ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ซึ่งเมื่อทดลองดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่ต่อไปเรื่อยๆ ก็ค้นพบว่ากลุ่มอาสาสมัครมีความเครียดน้อยลง ความอ่อนเพลียเหนื่อยล้าลดลง ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีความสุขสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองที่ไม่ดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่เป็นประจำ

    คำเตือน: หนังสือ พฤกษบำบัด ยาดีจากธรรมชาติ สำนักพิมพ์บ้านและสวนให้ข้อมูลว่า ผู้ที่กำลังรับการบำบัดด้วยเคมีหรือฉายแสงควรหลีกเลี่ยงการใช้เก๋ากี้ รวมทั้งผู้ที่กำลังกินยารักษาความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานควรของคำแนะนำก่อนใช้เช่นกัน เนื่องจากเก๋ากี้อาจเสริมฤทธิ์ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน จึงควรหลีกเลี่ยงการกินร่วมกัน
  2. พุทราจีน เป็นสมุนไพรยาอายุวัฒนะของจีนที่ใช้กันมานาน ช่วยเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ให้พลังงานที่ดี สร้างความสดชื่นให้แก่ร่างกาย และที่สำคัญยังสามารถช่วยลดอาการเครียด ทำให้นอนหลับสบาย พร้อมช่วยซ่อมแซมเซลล์สมองในขณะที่หลับ จึงตื่นมาด้วยความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายฉบับยืนยันว่า พุทราจีนช่วยลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น จึงช่วยป้องกันหวัด ช่วยให้อาการภูมิแพ้ต่างๆ ทุเลาลง ช่วยบำรุงตับและเลือด ลดความดันเลือดที่เลี่ยงลูกตา จึงลดอาการปวดตา แสบตา และตาแห้งได้ดี

    คำเตือน: ผู้สูงอายุไม่ควรกินเกิน 20 ผล เนื่องจากทำให้กรดในกระเพาะอาหารมาก ท้องอืด ท้องผูก ทำลายระบบย่อยอาหาร จนอาจเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบและโรคกรดไหลย้อน
  3. ใบบัวปก เป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่พร้อมจะนอนหลับพักผ่อนได้ง่ายขึ้น มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับสนิท ถือว่าตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่หลับ มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ใบบัวบกช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาอารมณ์ในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีได้ โดยใช้ใบบัวบกวันละ 750 มิลลิกรัมในผู้สูงอายุสุขภาพดีที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป จำนวน 28 คน พบว่า เริ่มเห็นผลการรักษาในเดือนที่ 2 หลังกินใบบัวบก ผู้สูงอายุมีการเรียนรู้ความจำและอารมณ์ดีขึ้น

    คำเตือน: การกินใบบัวบกในปริมาณมากอาจทำให้รู้สึกง่วงนอนได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะหากกินร่วมกับยานอนหลับหรือยาคลายกังวล เช่น โคลนาซีแพม, ลอราซีแพม, ฟีโนบาร์บิทอล และโซลพิเดม

ประเภทสมุนไพรบรรเทาโรคภูมิแพ้

นอกจากภูมิคุ้มกันและสภาพสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้แล้ว การขาดวิตามินก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่พบบ่อยในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ฉะนั้นก่อนอื่นต้องเป้าหมายไปที่อาหารที่ดีต่อสุขภาพและต้านการอักเสบ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ เน้นอาหารประเภทผักผลไม้ ปลา ผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ จากนั้นพิจารณาสมุนไพรต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการแพ้

  1. พลูคาว ใบพลูคาวมีกลิ่นแรงคล้ายกับน้ำคาวปลา มีสารฤทธิ์ ได้แก่ เทอร์พีนอยด์ (Terpenoid) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และอัลคาไลน์ (Alkaline) มีสรรพคุณช่วยในการซ่อมแซมระบบภายในร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดน้ำตาลในเลือด และช่วยให้ระบบน้ำเหลืองทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันศึกษาวิจัยคุณประโยชน์ของผักชนิดนี้ พบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระและพฤกษเคมีหลายชนิดที่เสริมภูมิต้านทานของร่างการอย่างมีประสิทธิภาพ

    คำเตือน: กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของพลูคาวต้องใช้กระบวนการสกัดด้วยการบดผงหรือสกัดด้วยน้ำจากใบพลูคาวเท่านั้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวและได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง
  2. เห็ดหลินจือ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสมุนไพรแห่งชีวิต มีพลังงานในการบำรุงและปรับสมดุลให้กับร่างกาย สารที่พบได้มากที่สุดคือ กาโนเดอร์มา (Ganoderma) เป็นสารที่ให้รสขม ซึ่งความขมจากสารตัวนี้จะช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน กระตุ้นอิมมูนในร่างกาย เพิ่มการสร้างกลุ่มเม็ดเลือดขาว และยับยั้งฮิสตามีน (Histamine) โดยมีการศึกษาวิจัยมาแล้วว่า ในเห็ดหลินจือมีสารสำคัญทางยาที่ช่วยยับยั้งไม่ให้ร่างกายผลิตสารฮิสตามีนที่เป็นตัวการทำให้ร่างกายแสดงอาการแพ้ออกมาให้เห็น เช่น เกิดตุ่มคันตามตัว หรืออาการลมพิษ เป็นต้น

    คำเตือน: ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน ทั้งนี้เพราะเห็ดหลินจือมีฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทานและไม่ควรบริโภคสารสกัดจากเห็ดหลินจือติดต่อกันนานกว่า 1 ปี อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
  3. มะขามป้อม ถือเป็นผลไม้ไทยที่มีวิตามินสูง โดยในมะขามป้อม 1 ผลจะให้วิตามีนซีเทียบกับส้ม 2-3 ผลเลยที่เดียว จึงสามารถช่วยต้านทานอนุมูลอิสระ ป้องกันการเสื่อมหรือการสลายของเซลล์ในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีสารแทนนิน (Tannin) และโฟลิกแอซิด (Folic Acid) ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งและภูมิแพ้ได้ ฉะนั้นหมอยาพื้นบ้านจึงนิยมนำมะขามป้อมมาใช้เป็นยาละลายเสมหะและบำรุงเสียง ในด้านยาอายุรเวทใช้แก้ไอ รักษาหลอดลมอักเสบ แก้อาการหอบ อันเป็นสาเหตุจากโรคภูมิแพ้ จากงาจนวิจัยพบว่า การกินมะขามป้อมสามารถช่วยลดผลกระทบจากก๊าซพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อันเป็นแหล่งกำเนิดของ PM2.5 นั้นเอง

    คำเตือน: ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากมะขามป้อมมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

ประเภทสมุนไพรบรรเทาอาการปวดข้อ-เข่า

โรคข้ออักเสบส่งผลให้เกิดอาการปวดตามมา การเยียวยาด้วยธรรมชาติอาจช่วยให้ผู้ทีที่มีอาการปวดเมื่อยชนิดที่ไม่รุนแรงสามารถจัดการกับอาการเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้สมุนไพรควบคู่ไปกับตัวเลือกการรักษาอื่นๆ พร้อมทั้งการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

  1. ผักแพว มีการศึกษาวิจัยพบว่า ผักแพวมีสารออกฤทธิ์ที่ต้านอนุมูลอิสระมากมาย และอุดมไปด้วยสารโพแทสเซียม, ฟอสฟอรัส, แคลเซียม, แมกนีเซียม และธาตุเหล็ก เป็นสาระสำคัญที่มีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูก แก้ปัญหาเหน็บชาที่ปลายประสาท ลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย รักษาอาการปวดข้อหรือกระดูก อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันในเลือด เหมาะเป็นผักสมุนไพรลดความอ้วนได้โดยไม่ขาดสารอาหาร ช่วยบำรุงสายตา รักษาโรคและอาการต่างๆ มากมาย ได้แก่ ป้องกันและต่อต้านโรคมะเร็ง ช่วยชะลอวัย บำรุงประสาท ช่วยในเรื่องการขับถ่าย เป็นต้น

    คำเตือน: ในการใช้ผักแพวเพื่อเป็นสมุนไพรควรระมัดระวัง ใช้ในปริมาณพอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายา ไม่ควรใช้ในปริมาณมากจนเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
  2. ตังกุย เรียกอีกชื่อว่า แองเจลิกา เป็นสมุนไพรจีนที่ช่วยปรับหยิน-หยางในร่างกาย จึงนิยมใช้ตังกุยในการแก้ปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ในสตรี รวมทั้งกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) บำรุงเลือด หรือสาวใหญ่บางท่านยังกินตังกุยเพื่อบรรเทาอาการร้อนวูบและอาการวัยทอง มีสารกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ช่วยในการต้านการอักเสบ ลดอาการเสียดสีหรือปวดข้อหรือเขาลง นอกจากที่กล่าวมา ยังมีรายงานการวิจัยถึงคุณสมบัติของตังกุยที่น่าสนใจไว้อีกมากมาย เช่น สารสกัดจากตังกุยสามารถต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดได้ จึงใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง

    คำเตือน: หนังสือ พฤกษบำบัด ยาดีจากธรรมชาติ สำนักพิมพ์บ้านและสวนให้ข้อมูลว่า ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติหรือกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ควรใช้ตังกุย เพราะอาจทำให้เลือดออกผิดปกติได้
  3. ขิง ตั้งแต่สมัยโบราณนักสมุนไพรบำบัดใช้ขิงเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียน ตำรับยาดั้งเดิมยังมีขิงเพื่อลดอาการปวดและอักเสบบวมที่เกิดจากโรคไขข้ออักเสบและโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดมีแผล เช่นเดียวกับงานวิจัยในประเทศไทยที่ให้ข้อมูลว่า หากกินขว่า หากกินขิงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ถึง 2 ปี พบว่า ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อและอาการบวม มีอาการเหล่านี้ลดลงและหายขาดในที่สุด โดยมีข้อสันนิษฐานว่า สารในขิงลดการสร้างพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) จึงทำให้อาการอักเสบหรือปวดลดลงได้

    คำเตือน: การศึกษาหนึ่งในออสเตรเลียพบว่า ขิงมีสรรพคุณในการต้านการแข็งตัวของเลือดมากกว่ายาแอสไพริน สถาบันสุขภาพของออสเตรเลียได้ออกคำเตือนให้งดบริโภคขิงในขณะที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอาการห้อเลือดหรืออาการเลือดออกได้

อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรมีผลทางด้านบวกและด้านลบเสมอ การศึกษาข้อมูลสมุนไพรก่อนบริโภคช่วยให้เราสามารถใช้สมุนไพรได้อย่างปลอดภัย และได้สุขภาพที่แข็งแรงอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (dmh.go.th)
นิตยสารชีวจิต ปีที่ 23 ฉบับที่ 538 เดือนมีนาคม 2564